วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แกงหน่อไม้

หน่อไม้เป็นต้นอ่อนของไผ่ ไม้ไผ่เป็นทรัพยากรป่าไม้ที่มีค่ายิ่งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ประจำวันของคนไทย โดยเฉพาะชาวชนบทจะมีความสัมพันธ์กับไม้ไผ่อย่างแน่นแฟ้น ทุกส่วนของไม้ไผ่นับตั้งแต่รากถึงยอดจะใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มตั้งแต่รากฝอยของไม้ไผ่ช่วยยึดติดไม่ให้ดินพังทลาย ต้นอ่อนของไผ่หรือหน่อไม้เป็นอาหารธรรมชาติของคนไทยมาช้านาน เหง้าสามารถนำไปทำเครื่องประดับ กิ่งก้าน มัดรวมกันสามารถใช้ทำเป็นไม้กวาดได้ และลำไม้ไผ่ใช้ทำบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทำเครื่องเรือนทำด้ามเครื่องมือการเกษตร และภาชนะต่างๆ ทำเครื่องดนตรี เครื่องจักรสาน ใช้เป็นวัตถุ ดิบในอุตสาหกรรมผลินเยื่อกระดาษ การทำไหมเทียมตลอดจนไม้ไผ่นำมาทำเชื้อเพลิงได้ ส่วนที่ใช้เป็นอาหารได้แก่ หน่ออ่อนของไม้ไผ่หรือหน่อไม้รับประทานเป็นผักหน่อไม้เป็นผักที่มีมากในฤดูฝน พบในท้องตลาดทุกภาคของเมืองไทย  ชาวบ้านนิยมนำมาทำเป็นอาหารกันทุกภาค   ที่นิยมทำเป็นอาหารกันมากของชาวอีสาน คือ แกงหน่อไม้ใบย่านาง
เครื่องปรุง
หน่อไม้รวกเผา
5 หน่อ (300 กรัม)
ใบย่านาง
20 ใบ (115 กรัม)
เห็ดฟางฝ่าครึ่ง
½ ถ้วย (100 กรัม)
ชะอมเด็ดสั้น
½ ถ้วย (50 กรัม)
ฟักทองหั่นชิ้นพอคำ
½ ถ้วย (50 กรัม)
ข้าวโพดข้าวเหนียวฝานเอาแต่เมล็ด
½ ถ้วย (50 กรัม)
แมงลักเด็ดเป็นใบ
½ ถ้วย (50 กรัม)
ตะไคร้ทุบหั่นท่อน
2 ต้น (60 กรัม)
น้ำปลาร้า
3 ช้อนโต๊ะ (48 กรัม)
น้ำ
3–4 ถ้วย (300–400 กรัม)
กระชายทุบ
¼ ถ้วย (10 กรัม)
พริกขี้หนู
10 เม็ด (10 กรัม)
ข้าวเบือ
1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
น้ำปลา
2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)

หมายเหตุ ข้าวเบือ คือ ข้าวเหนียวแช่น้ำประมาณ 20 นาทีขึ้นไป  แล้วนำมาโขกใช้ละเอียด
วิธีทำ
     1. โขลกข้าวเบือให้ละเอียด
     2. ปอกเปลือกหน่อไม้ ตัดส่วนแก่ทิ้ง ตัดเป็นท่อนยาว 2 นิ้ว ต้มน้ำทิ้ง 2-3 ครั้ง ให้หายขื่น
     3. โขลกใบย่านาง แล้วนำไปคั้นกับน้ำ ให้น้ำใบย่านางออก กรองใส่หม้อ
     4. นำหม้อที่ใส่น้ำใบย่านางยกขึ้นตั้งไฟ ใส่หน่อไม้พอเดือดใส่กระชาย พริกขี้หนู ตะไคร้ ข้าวเบือ น้ำปลาร้า น้ำปลา ต้มสักครู่ ใส่ฟักทอง เห็ดฟาง ข้าวโพด เมื่อทุกอย่างสุกทั่วกันดี ใส่ชะอม ใบแมงลัก ยกหม้อลง
สรรพคุณทางยา
    
1. หน่อไม้ มีรสขมหวานร้อน
          - ราก รสอร่อยเอียนเล็กน้อย ใช้ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ
          - ใบไผ่ เป็นยาขับฟอกล้างโลหิตระดูที่เสีย
     2. ย่านาง มีรสจืด ทั้งต้นนำมาปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ
          - ใบ ใช้เป็นยาถอนพิษ ปรุงรวมกับยาอื่นแก้ไข้
          - ราก แก้เบื่อเมา กระทุ้งพิษไข้ เป็นเมาสุรา ถอนพิษผิดสำแดง
     3. เห็ดฟาง (เห็ดบัว) รสจืด ให้พลังงานและสารอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าแทนเนื้อสัตว์ช่วยกระจายโลหิต
     4. ชะอม รากชะอมมีสรรพคุณแก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้แก้อาการปวดเสียวในท้องได้ดี ยอดชะอมใบอ่อน มีรสจืด กลิ่นฉุน (กลิ่นหอมสุขุม) ช่วยลดความร้อนของร่างกาย
     5. ฟักทอง มีคุณค่าทางอาหารสูง บำรุงสายตา บำรุงร่างกาย
     6. ข้าวโพด รสหวานมัน เมล็ด เป็นยาบำรุงกระเพาะอาหาร ฝาดสมาน บำรุงหัวใจ ปอด เจริญอาหาร ขับปัสสาวะ
          - ราก ต้มกินรักษานิ่ว และอาเจียน
     7. แมงลัก ใบสด รสหอมร้อน เป็นยาแก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคท้องร่วง ขับลม
     8. ตะไคร้ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร และขับเหงื่อ
     9. กระชาย รสร้อน แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้บิดมีตัว ขับพยาธิตัวกลม และพยาธิเส้นด้ายในเด็ก ใช้แต่งกลิ่น สี รสอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ไม่มีพิษ
     10. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยย่อย
ประโยชน์ทางอาหาร
แกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง รสชาติโดยรวมจะออกไปทางขมร้อน จากการใส่ผักหลายชนิดซึ่งมีทั้งรสร้อน รสขม จืดมัน จึงช่วยในการบำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับลม และช่วยเจริญอาหาร


 

ลาบปลาดุก

                      ลาบปลาดุก
                            ลาบเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ที่ใช้ปลาหรือเนื้อดิบสับให้                    
                               ละเอียด ผสมด้วยเครื่องปรุงมีพริก ปลาร้า เป็นต้น ถ้าใส่เลือดวัว                             
                               หรือเลือดหมู เรียกว่าลาบเลือดชาวอีสานทุกครัวเรือน                                                           
                                ทำอาหารประเภทลาบ ในงานบุญต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งาน                                   
                                บวช   พระ งานศพ งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
                           “ลาบปลาดุกก็เป็นอาหารประเภทหนึ่งในบรรดาลาบทั้งหมดที่      
                            ขึ้นชื่อของอาหารอีสาน และทุกภาครู้จักกันดี เนื่องจากปลาดุกเป็นปลาน้ำจืดที่หาได้ในท้องถิ่น มีรสมัน หวาน เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด และก้างน้อย จึงนิยมนำมาประกอบอาหารประกอบ

เครื่องปรุง
ปลาดุกอุยหนักประมาณ 300 กรัม
1 ตัว
ข้าวคั่ว
2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
พริกป่น
1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
ข่าโขลกละเอียด
1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
ใบมะกรูดหั่นฝอย
2 ช้อนชา (15 กรัม)
ต้นหอมซอย
2 ช้อนชา (15 กรัม)
หอมแดงฝอย
2 ต้น (10 กรัม)
ใบสะระแหน่
1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
น้ำมะนาว
½ ถ้วย (50 กรัม)
น้ำปลา
2-3 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
ผักสด กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ใบโหระพา

วิธีทำ
     1. ล้างปลาดุกให้สะอาด ขูดเมือกบนผิวออก นำไปย่างไฟพอสุก แกะเอาแต่เนื้อ สับหยาบๆ
     2. เคล้าเนื้อปลาดุกกับข้าวคั่ว พริกป่น ข่าหั่นฝอย หอมแดงซอย ใบมะกรูดหั่นฝอย
     3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว คลุกเคล้ากันให้ทั่ว โรยใบสะระแหน่ ต้นหอมซอย ชิมรสตามชอบ รับประทานกับกะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ใบโหระพา
สรรพคุณทางยา
    
1. ข้าวสาร รสมันหอมหวาน บำรุงร่างกาย แก้ตาฟาง แก้เหน็บชา แช่น้ำ ตำเป็นแป้งพอก แก้บวม แก้ปวด
     2. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อย
     3. ข่า รสเผ็ดปร่าร้อน ช่วยขับลม ขับพิษโลหิตในมดลูก ขับลมในลำไส้
     4. ใบมะกรูด รสปร่ากลิ่นหอมติดร้อน ใช้ปรุงอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาว แก้โรคลักปิดลักเปิด ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้ลมจุกเสียด
     5. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
     6. สะระแหน่
          - ใบ/ยอดอ่อน รสหอมร้อน ขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง ขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
     7. มะนาว เปลือกผลรสขม ช่วยขับลม น้ำในลูก รสเปรี้ยว แก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
     8. กะหล่ำปลี รสจืดเย็น กระตุ้นการทำงานของกระเพาะลำไส้ บำรุงธาตุไฟ
     9. ถั่วฝักยาว รสมันหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะลำไส้ บำรุงธาตุดิน
     10. โหระพา ใบรสเผ็ดปร่าหอม แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้ ขับเสมหะ
ประโยชน์ทางอาหาร
ลาบปลาดุก มีรสจัด เปรี้ยว เผ็ด เค็ม ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร เนื่องจากส่วนประกอบแต่งด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด

อ่อมขี้เหล็ก

อ่อมขี้เหล็ก   
เครื่องปรุง
 
- ใบขี้เหล็กอ่อนต้ม 3 ถ้วยแกง
 - เอ็นวัวต้มเปื่อย 1/2 ถ้วยแกง
 - น้ำปลา 3 ช้อนแกง
 - น้ำปลาร้า 3 ช้อนแกง
 - ชะอม 1/2 ถ้วยแกง
 - ใบแมงลัก 1ถ้วยแกง
 - หอมสด 3-4 ต้น
 - ข้าวเบือ 1/2 ถ้วย
 - น้ำใบย่านางข้น 3ถ้วย
 - ใบมะกรูด 3-4ใบ และ หอมแดงแห้ง กระเทียม หอมดแงแห้งเผา ตระไคร้ ข่า พริกสด กระเทียมเผา 

 วิธีทำ
  - ใบขี้เหล็กอ่อนล้างน้าให้สะอาด นำเอาใบอ่อนและยอดหรือดอกไปต้มให้หายขมประมาณสองครั้งแล้วบีบน้ำออก
  - โขลกเครื่องแกงให้ละเอียด หอมแห้งกระเทียมนำมาเผาแล้วปลอกเปลือก
  - ข้าวสารแช่น้ำ โขลกร่วมกับใบย่านางละลายน้ำคั้นให้ข้นๆ 3 ถ้วยแกง
  - นำใบย่านางต้มใส่เครื่องแกงที่โขลก และหัวหอมที่เผา ใส่ขี้เหล็กน้ำปลาน้ำปลาร้าเอ็นวัวเนื้อวัวต้มเปื่อย ข้าวเบือพอเดือดใส่ชะอม ใบแมงลักหอมสด ปิดฝารอรับประทาน

  ข้อควรทราบ
  - ใช้หมูไก่ ปลาแทนเนื้อวัวหรือไม่ใส่เนื่อเลยก็ได้
  - การต้มใบขี้เหล็กควรใช้ไฟแรง เวลาต้มไม่ต้องคนพอเดือดรีบเทน้ำทิ้งแล้วต้มใหม่สองครั้ง
  - ถ้าแกงขี้เหล็กแบบมันใช้ กะทิแทนย่านาง ใส่เครื่องแกงเผ็ดแทนพริกสด
  - บางที่นิยมใช้หนังที่ตากแห้งแล้วเอาไปเผาให้สุก  แล้วต้มพร้อมกับต้มขี้เหล็กแทนเนื้อต่างๆ
  - ข้าวเบือ คือ ข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วนำมาโขกให้ละเอียด

ซุปหน่อไม้

ซุปหน่อไม้เป็นอาหารที่เป็นที่นิยมของชาวอีสานเช่นกัน  ซึ่งสามารถหากินได้แทบจะทุกจังหวัด  แต่กรมวิธีในการปรุงซุปหน่อไม้นั้นอาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละถิ่น  แต่ก็ไม่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซุปหน่อไม้ก็เช่นเดียวกับอาหารอื่นๆของภาคอีสานคือจะมีรสจัดจ้าน  และมีเครื่องปรุงหลักที่ขาดไม่ได้เลยคือ  น้ำปลาร้า  เรียกได้ว่าชาวอีสานทุกครัวเรือน  จะต้องมีน้ำปลาร้าประจำอยู่ในครัว  ถ้าไม่มีอาหารอะไรก็จะเอาปลาร้ามาตำน้ำพริกรับประทานกับผักสดที่ปลูกอยู่ข้างบ้าน  ถือเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างหนึ่งของชาวอีสาน   ที่มีลักษณะการดำรงชีวิตแบบง่ายๆ คือ อยู่ง่ายๆ กินง่ายๆ  และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่รอบๆตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด  และรู้จักประยุกต์ใช้ทรัพยากรในหลายๆด้าน
เครื่องปรุง
หน่อไม้รวกขูดเป็นเส้นฝอย
300 กรัม
ใบย่านาง
20 ใบ (15 กรัม)
น้ำคั้นจากใบย่านาง
2 ถ้วย
น้ำปลาร้า
½ ถ้วย (50 กรัม)
เกลือ
½ ช้อนชา (4 กรัม)
น้ำปลา
1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
มะนาว
2–3 ช้อนโต๊ะ (45 กรัม)
ผักชีฝรั่งซอย
2 ต้น (7 กรัม)
ต้นหอมซอย
2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
ใบสะระแหน่เด็ดเป็นใบ
½ ถ้วย (50 กรัม)
งาขาวคั่ว
1 ช้อนชา (8 กรัม)
พริกป่น
1 ช้อนชา (8 กรัม)
ข้าวเหนียว
1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)

  วิธีทำ
   - นำหน่อไม้มาเผาไฟหรือต้มให้สุก นำมาขูดเป็นเส้นฝอยๆโดยใช้ส้อมหรือเข็มขูดตัดเป็นท่อนประมาณหนึ่งคืบ  แล้วนำไปต้มให้หายขม
   - ใบย่านาง คั้นให้ได้นำค้นเขียวประมาณ2ถ้วย
   - คั่วงาโดยใช้ไฟอ่อนๆ แล้วร่อนเอาฝุ่นอกให้หมด โขลกให้ละเอียดเอาไว้โรยหน้าหรือจะโขกรวมกับซุปหน่อไม้ก็ได้
   - หั่นผักทุกชนิดแบบฝอย หอมแดงเผา พริกสดเผา โขลกรวมกัน
   - นำหน่อไม้มาบีบน้ำออกให้หมด ใส่ลงในนำใบย่านาง  เติมเกลือน้ำปลาน้ำปลาร้า แล้วต้มให้น้ำย่านางสุกจนน้ำขลุกขลิก
   - โขลกพริกและหัวหอมที่เผาแล้วให้ละเอียด ใส่เนื้อปลาลงโขลก ใส่หน่อไม้ที่ต้มกับใบย่านางแล้วลงไป  ปรุงรสอีกครั้ง ชิมดูรสตามความต้องการแล้วปล่อยให้เย็น โรยผัก งาและพริกป่นที่เตรียมไว้ถ้าหากชอบรสเผ็ด
    - จัดใส่จานรับประทานกับผักสดพื้นบ้าน
  ข้อควรรู้
   - ควรรับประทานหลังทำเสร็จใหม่ๆจะแซ้บที่สุด
   - หน่อไม้ควรเป็นหน่อไม้ใหม่ๆและอ่อนเส้นหน่อไม้ที่ขูดควรเส้นเล็ก
   - ถ้าไม่ชอบปลาร้าใส่นำปลาแทนก็ได้
   - นำซุปหน่อไม้ควรจะขลุกขลิกเล็กน้อยและข้น